ตัวอย่างการวิเคราะห์ภาพยนตร์และนวนิยาย - Life of Pi: เมื่อ "สัญชาตญาณ" กับ "เหตุผล" ต้องร่วมมือกัน


Life of Pi หรือในชื่อภาษาไทยว่า การเดินทางของพาย พาเทล ประพันธ์โดย ยานน์ มาเทล (Yann Martel) นักประพันธ์ชาวแคนาดา เชื้อสายสเปน ซึ่งตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 2001 นวนิยายเรื่องนี้มีลักษณะที่พิเศษของแนวคิดแบบหลังสมัยใหม่ (Postmodernism) ที่เต็มไปด้วยกลวิธีที่แปลกใหม่ในการประพันธ์ ไม่ว่าจะเป็นภาษา โครงเรื่อง การดำเนินเรื่อง มุมมองผู้เล่าเรื่อง และแก่นของนวนิยายที่ให้ทั้งแง่คิดเชิงปรัชญาและเสียดสีล้อเลียนศาสนา วัฒนธรรม การเมือง การปกครอง เชื้อชาติ และขนบธรรมเนียม ประเพณี ความเชื่อต่าง ๆ ของมนุษย์ได้อย่างชัดเจนตรงไปตรงมา ในด้านการใช้ภาษา เป็นไปทางเชิงการใช้ภาษาพูดและเป็นการเล่าเรื่องจากประสบการณ์ของตัวละครเสียมาก และบ่อยครั้งก็มีบทสนทนาของตัวละครภายในเรื่องที่มีการเล่นมุกตลกร้าย กล่าวถึงความลักลั่นย้อนแย้ง และมีการตั้งคำถามกับแนวคิดกระแสหลักที่ผู้คนในสังคมนิยมยึดถือปฏิบัติกันมา หรือแนวคิดสมัยใหม่ (Modernism) มุ่งเน้นให้ผู้อ่านได้ตั้งคำถามและใช้ความคิดตามที่ตัวละครได้เชิญชวน ซึ่งแตกต่างจากนวนิยายเรื่องอื่นที่เน้นการบรรยายรายละเอียดและใช้ภาษาที่สละสลวย  พร้อมดำเนินเรื่องอย่างไม่ซับซ้อนมากนัก



นวนิยายได้กล่าวถึง พิสซีน มอลิทอร์ พาเทล (Piscine Molitor Patel) หรือ พาย (Pi) เป็นชายหนุ่มชาวอินเดียผู้ได้รับการตั้งชื่อตามสระว่ายน้ำในฝรั่งเศสที่เติบโตมาพร้อมกับความแตกต่างหลากหลายรอบตัวของเขา พ่อของพายเป็นนักธุรกิจที่เรียกตนเองว่าเป็น ชาวอินเดียรุ่นใหม่ ผู้เป็นเจ้าของสวนสัตว์ที่เต็มไปด้วยสัตว์มากมายหลายชนิด อันเป็นสถานที่ที่พายและพี่ชายของเขา ระวี เติบโตขึ้นมา พายเรียนรู้และเข้าใจถึงปรัชญาชีวิตในแง่ของความแตกต่างหลากหลายตั้งแต่ยังเป็นเด็ก เขาชื่นชอบความสวยงามที่แตกต่างกันออกไปของสัตว์ชนิดต่าง ๆ ทั้งชนิดพันธุ์ สีสัน เสียงร้อง หรือลักษณะท่าทาง และเมื่อเขาเริ่มเติบโตขึ้นในวัยที่เริ่มเกิดความสงสัยใคร่รู้ในทุกสิ่งรอบตัว พายก็ได้รับการปลูกฝังแนวคิดต่าง ๆ ของหลากหลายศาสนาจากผู้ใหญ่รอบตัวเขา เช่น ความเชื่อในเรื่องกำเนิดของจักรวาลตามความเชื่อในศาสนาฮินดู จากการที่ป้าพาเขาไปวัดฮินดู การรักอย่างไม่มีเงื่อนไขและการให้อภัยผู้อื่นของศาสนาคริสต์ จากบาทหลวงนิกายคาทอลิกที่เขาพบบนยอดเขา ความศรัทธาในพระอัลเลาะห์จากชายที่เขาพบในย่านชุนชนมุสลิม รวมทั้งความเชื่อในเหตุผลและวิทยาศาสตร์ของคุณครูสอนวิชาชีววิทยาของเขา นอกจากนี้ เขายังได้รับเอาแนวคิดเกี่ยวระบบทุนนิยมที่พ่อพร่ำสอนและนิสัยรักการอ่านที่ได้จากแม่เข้ามาประกอบสร้างตัวตนของเขาเองด้วย



แต่ต่อมา ผู้นำศาสนาในชุมชนของเขาเริ่มเห็นว่า พายไปเข้าร่วมประกอบพิธีทางศาสนาของทั้งสามศาสนา นั่นก็คือ ศาสนาฮินดู ศาสนาคริสต์ และศาสนาอิสลาม ทั้งสามเลยมาพบกับพ่อแม่ของเขาที่บ้าน และพร้อมใจกันยืนกรานว่า พายควรจะเลือกนับถือศาสนาเพียงอย่างเดียว ซึ่งเหมือนแนวคิดของวิธีการแบบสมัยใหม่ ที่มีความเชื่อว่า ความจริงหรือความเชื่อต้องมีเพียงหนึ่งเดียวและไม่อนุญาตให้มีพื้นที่อื่น ๆ สำหรับความจริง ความเชื่อ ข้อมูลหรือข้อเท็จจริงอื่น ๆ ที่ไม่ได้รับการยืนยันอย่างเป็นทางการ แต่พ่อแม่ของพายก็ไม่ได้บังคับให้เขาเลือกนับถือศาสนาใดศาสนาหนึ่ง ซ้ำยังเห็นเป็นเรื่องตลกขบขันไปที่ลูกชายนับถือพร้อมกันถึงสามศาสนา ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเปิดกว้างแบบแนวคิดแบบหลังสมัยใหม่ที่ครอบครัวพาเทลมี และเป็นไปได้ว่า ชาวอินเดียนั้นมีความคุ้นชินกับความหลากหลายทางวัฒนธรรมในประเทศของพวกเขา เนื่องจากจะเห็นได้ว่า มีกลุ่มชาติพันธุ์มากมายในประเทศอินเดียและมีภาษาเป็นของตนเอง ซึ่งทุกวันนี้ยังคงมีการใช้กันอยู่ เช่น ภาษาฮินดี (Hindi) ภาษาทมิฬ (Tamil) ภาษาอูรดู (Urdu) ภาษาเบงกอลหรือเบงกาลี (Bengali) 


นอกจากนี้ก็มีความหลากหลายทางความเชื่อทางศาสนาและวัฒนธรรมตามแต่ละภูมิภาคของอินเดีย และเมืองพอนดิเชอร์รี่ (Pondicherry) ที่พวกเขาอาศัยอยู่นั้น ก็เคยถูกปกครองโดยอาณานิคมฝรั่งเศสด้วย ดังนั้น การยอมรับความแตกต่างจึงอาจเป็นเรื่องง่ายสำหรับพวกเขา และเนื่องจากการเติบโตมากับวัฒนธรรมที่เต็มไปด้วยความหลากหลาย นั่นจึงทำให้พายเป็นคนที่มีความเปิดกว้าง รับฟังความคิดผู้อื่น มีจิตใจอ่อนโยน มีเมตตา แต่ในขณะเดียวกันก็เต็มไปด้วยความสับสน มีความไม่ชัดเจนและอิทธิพลของแนวคิดหรือชุดความคิดต่าง ๆ ที่เขารับเอาเข้ามาในจิตใจก็ก่อให้เกิดความลังเลสงสัยอยู่ตลอดเวลา เราจะสามารถเห็นได้ว่า ตัวเขามีความกำกวมมาก นับตั้งแต่ชื่อเล่นของเขา ซึ่งก็คือ พาย (Pi - π) อันเป็นสัญลักษณ์อักษรกรีกโบราณที่แทนค่าจำนวนอตรรกยะไม่รู้จบ ไปจนถึงชื่อเต็มของเขาอันเป็นชื่อสระว่ายน้ำในฝรั่งเศส ซึ่งได้รับมาจากมามาจี ลุงของเขา ผู้ชื่นชอบการว่ายน้ำที่สระแห่งนั้นมาก อันแสดงให้เห็นถึงตัวตนและอัตลักษณ์ที่ถูกประกอบสร้างจากสิ่งต่าง ๆ มากมายรอบตัวเขา ตามที่ลากอง (Lacan) ได้กล่าวเอาไว้ว่า มนุษย์นั้นไม่ได้มีเจตจำนงเสรี หรือเป็นนายของตนเองอย่างที่เข้าใจ เพราะอัตลักษณ์ของมนุษย์นั้นเกิดจากการลอกเลียนแบบจากคนอื่น ๆ มานับตั้งแต่ยังเป็นทารก จนกระทั่งเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ล้วนแต่ถูกขัดเกลาทางวัฒนธรรม และเป็นไปตามแรงขับจากจิตใต้สำนึกของตนเอง



นี่จึงเป็นลักษณะที่แสดงถึงความเป็นหลังสมัยใหม่ในตัวของพายเองเช่นเดียวกัน ซึ่งก็ตรงกับจุดกำเนิดของแนวคิดแบบหลังสมัยใหม่อันเกิดขึ้นจากเมืองใหญ่ (Metropolis) เนื่องจากเมืองใหญ่เป็นแหล่งรวมตัวกันของผู้คนจำนวนมากจากหลากหลายพื้นที่ วัฒนธรรมเชื้อชาติ ภาษา ชนชั้น มารวมอยู่ในที่เดียวกัน ก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนมุมมองทางความคิดและวัฒนธรรม มากกว่าพื้นที่ที่อยู่ห่างไกลเช่นชนบท ซึ่งมีมักจำนวนประชากรไม่มากและไม่ค่อยมีความแตกต่างทางความคิดเท่าใดนัก สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างก็คือ พายได้เล่าให้ฟังถึงคุณครูของเขาคนหนึ่ง ซึ่งเป็นคุณครูสอนชีววิทยา คุณครูคนนี้ชื่อ สาธิส กุมาร เขาได้เล่าให้ฟังถึงเหตุผลที่เขาไม่เชื่อในพระเจ้าและศาสนาอื่น ๆ เนื่องจากในตอนที่เขาเป็นเด็ก เขาป่วยเป็นโรคโปลิโอขาลีบทั้งสองข้างและเขาก็อ้อนวอนขอให้พระเจ้าและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ช่วยทำให้เขาหายจากความทุกข์ทรมานนี้แต่สิ่งที่ช่วยเขากลับเป็นยาจากชาวตะวันตก นั่นเองจึงเป็นสาเหตุให้เขาเชื่อมั่นในวิทยาศาสตร์และสิ่งที่พิสูจน์ได้ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา



ซึ่งสามารถสังเกตได้ว่า ตัวละครแต่ละตัวในเรื่องนวนิยายเรื่องนี้มักจะมีความเชื่อหรือแนวคิดไปในทางใดทางหนึ่งเช่น ทางวิทยาศาสตร์ หรือ ทางศาสนา น้อยรายนักที่จะมีการผสมผสานเอาแนวคิดทั้งสองอย่างเอาไว้ด้วยกันอย่างเช่นพาย และทุกคนมักจะพยายามที่จะนำเสนอแนวคิดให้พายได้ฟังและนำไปใช้บ้าง  แต่เมื่อพายได้รับฟังความคิดเห็นและแนวคิดต่าง ๆ จากคนรอบข้างแล้ว เขาไม่ปฏิเสธแนวคิดใดแนวคิดหนึ่ง แต่ล้วนรับเอาแนวคิดทุกแนวคิดและโอบรับความแตกต่างของแนวคิดทั้งหลายพร้อมผสมผสานให้ลงตัว และนำไปปรับใช้กับสถานการณ์ในชีวิตของเขาเอง 

 

ในนวนิยายยังปรากฏการใช้เรื่องเล่าขนาดสั้นเป็นที่วิพากษ์และตั้งคำถามกับความเชื่อ การกระทำ และมุมมองที่มีต่อโลกและสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ของมนุษย์ ซึ่งโดยทั่วไป มักเชื่อว่า เผ่าพันธุ์ของตัวเองนั้นเป็นสิ่งมีชีวิตที่สูงส่ง มีเกียรติ มีความรู้ความสามารถ ทรงปัญญาเหนือกว่าสัตว์เดรัจฉานชนิดอื่น ๆ แสดงถึงการยกย่องให้มนุษย์เป็นใหญ่เหนือสิ่งอื่น ๆ หรือที่เรียกว่า Anthropocentrism (คัลเลอร์, 2561, หน้า 215) และคิดว่า เราสามารถเข้าไปจัดการ ควบคุม บงการสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ได้ แต่เหตุการณ์ในเรื่องที่พายเล่าให้ฟังนั้น ก็มีเกี่ยวกับการที่มนุษย์ทำร้ายสัตว์ในสวนสัตว์ หรือก่อความรำคาญให้สัตว์ เช่น ปัสสาวะหน้ากรงสัตว์ ไปจนถึงการโยนของที่สัตว์ไม่สามารถกินได้เข้าไปในกรง ทำให้สัตว์เกิดป่วย ติดโรค หรือพิการขึ้นมา เนื่องจากการกระทำของมนุษย์ ดังนั้นพ่อของพายจึงได้ทำการติดตั้งกระจกเอาไว้และทำม่านบัง พร้อมทั้งเขียนป้ายเชิญชวนผู้คนว่า ถ้าอยากรู้ว่า สัตว์ที่ดุร้ายที่สุดในโลกคือตัวอะไรให้ลองเปิดผ้าม่านดู เมื่อหลายคนเปิดเข้ามาดูแล้วก็ต้องรู้สึกหงุดหงิด โมโห ที่โดนหลอก และยังเสียหน้า เพราะถูกว่าว่าเป็นสัตว์



นอกจากนี้ยังมีการเลือกเล่าเรื่องที่มาของเสือเบงกอลนามว่า ริชาร์ด ปาร์คเกอร์  (Richard Parker) ให้มีลักษณะในเชิงเรื่องเล่าตลกขบขันอันแสดงให้เห็นถึงความกำกวมของบทบาทของมนุษย์กับสัตว์อีกด้วย ที่มาของชื่ออันขบขันของเสือ ริชาร์ด ปาร์คเกอร์ นั่นก็คือ มันเป็นลูกเสือที่ถูกจับได้พร้อมกับแม่ของมัน โดยนายพรานผู้มีชื่อว่า ริชาร์ด ปาร์คเกอร์ นายพรานคนนั้นได้ตั้งชื่อของมันว่า กระหาย หรือ Thirsty เนื่องจากพบเสือสองแม่ลูกที่ริมลำธาร แต่เมื่อเสือแม่ลูกนั้นถูกนำส่งไปยังสวนสัตว์พอนดิเชอร์รี่ นายเสมียนได้ออกเอกสารระหว่างชื่อสัตว์และชื่อผู้จับได้นั้นสลับกันผิดไป ดังนั้น ทำให้ลูกเสือตัวนั้นจึงได้ชื่อว่า ริชาร์ด ปาร์คเกอร์ ส่วนชื่อนายพรานกลับได้ชื่อว่านายกระหาย ไม่มีนามสกุล นี่จึงเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่แนวคิดแบบหลังสมัยใหม่ได้ใช้กลวิธีอันกำกวมเพื่อล้อเล่นหรือตั้งคำถามกับบทบาทที่มนุษย์เอาตนเองเป็นศูนย์กลางของจักรวาลมาใช้ในการมองโลกและสิ่งต่าง ๆโดยใช้การเปรียบเทียบกับสัตว์ และลบเส้นแบ่งอันชัดเจนเพื่อการแบ่งแยกหรือจัดกลุ่มจากมุมมองของมนุษย์ พร้อมทำให้กลายเป็นเส้นแบ่งอันพร่าเลือน (Blurry Lines) ไม่ชัดเจนระหว่างความเป็นมนุษย์กับสัตว์



นอกจากนี้ ยังแสดงให้เห็นแนวคิด Anthropocentrism อีกครั้ง ในตอนที่พายยกเกร็ดความรู้และเรื่องราวเกี่ยวกับการฝึกสัตว์ในคณะละครสัตว์มาให้ผู้อ่านได้ขบคิด ในการฝึกสัตว์นั้น ผู้ฝึกสัตว์จะเรียนรู้วิธีการควบคุมและฝึกสอนสัตว์ให้จดจำบทบาทและตำแหน่งของตัวมันเอง อีกทั้งยังต้องระมัดระวังตัวเองอยู่เสมอ เพื่อไม่ให้ตกไปอยู่ในตำแหน่งของสมาชิกในฝูง แต่ต้องคอยทำตัวให้เป็นจ่าฝูงเพื่อคุมสัตว์ให้ได้ตลอดเวลา สิ่งนี้เกิดขึ้นกับพาย ในตอนที่พายนั้นได้ลงเรือลงไปในเรือชูชีพ ร่วมกับสัตว์ทั้งหลายตามที่เขาเล่า โดยเฉพาะ ริชาร์ด ปาร์กเกอร์ เสือเบงกอลโตเต็มวัยเพศผู้ เมื่อเหลือกันอยู่เพียงแค่สองชีวิตในเรือชูชีพลำน้อย พายพยายามที่จะควบคุมฝึกพฤติกรรมของริชาร์ด ปาร์กเกอร์ อยู่เสมอ เพราะมันมักแสดงท่าทางที่ดุร้ายออกมาและยึดครองพื้นที่บนเรือไปทั้งหมด ทำให้พายต้องหนีลงไปอาศัยอยู่บนแพชั่วคราวที่เขาสร้างขึ้น



โดย ริชาร์ด ปาร์คเกอร์ นั้นสามารถสื่อได้ถึงพฤติกรรมอันมาจากสัญชาตญาณดิบ หรือ ID ของมนุษย์ ซึ่งมักถูกเก็บกดเอาไว้ในเบื้องลึกของจิตใจ การสูญเสียการควบคุมพื้นที่บนเรือเสมือนการสูญเสียความสามารถในการควบคุมจิตใจของตนเอง เรือที่โคลงเคลงไปตามคลื่นลมสื่อถึงสภาวะของจิตใจที่สับสน ไม่มั่นคง ดังนั้น การแย่งชิงพื้นที่บนเรือระหว่างพายและริชาร์ด ปาร์คเกอร์ จึงเป็นเสมือนการยื้อยุดพื้นที่ในจิตใจของมนุษย์ระหว่าง ID และ Super Ego ตามทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของฟรอยด์ ซึ่งแทนความเป็นมนุษย์ และกรอบกฎของสังคมที่สั่งสอนให้มนุษย์เรียนรู้ที่จะรู้จักควบคุมและเก็บกดความต้องการเบื้องลึกของตนเองเอาไว้ และยังเป็นการแช่งชิงพื้นที่กันไปมาระหว่างแนวคิดต่าง ๆ ภายในจิตใจของพายเองด้วยว่า เขาควรจะใช้แนวคิดหรือวิธีการแบบใดเพื่อให้แก้ไขปัญหา และในภายหลัง เมื่อ ริชาร์ด ปาร์คเกอร์ ได้รับการฝึกฝนให้อยู่อย่างสันติร่วมกันกับพายบนเรือแล้ว สะท้อนให้เห็นว่า พายสามารถควบคุมสภาพจิตใจของเขาได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยการใช้นกหวีดเป็นตัวสื่อสารกับ ริชาร์ด ปาร์คเกอร์ และเขาก็รู้สึกอุ่นใจที่มี ริชาร์ด ปาร์คเกอร์ อยู่ด้วย แสดงให้เห็นว่าพายเรียนรู้ที่ยอมรับด้านมืดในตัวของเขา พร้อมทั้งได้เรียนรู้ว่า สัญชาตญาณนั้นก็มีประโยชน์เช่นกันในการเอาชีวิตรอดในสถานการณ์คับขัน



การได้ใช้ชีวิตอยู่ในเรือกับ ริชาร์ด ปาร์คเกอร์ ได้ทำให้พายเรียนรู้ว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นในชีวิตนั้นไม่สามารถแก้ได้โดยเพียงวิธีเดียว หากแต่มีวิธีการอื่น ๆ อีกมากมาย และหลายวิธีที่ดีนั้นก็เกิดจากการผสมผสานดัดแปลงและนำองค์ความรู้ต่าง ๆ มาปรับปรุงพัฒนา ให้เกิดแนวทางเพื่อใช้ในการแก้ไปปัญหา เป็นแนวคิดแบบหลังสมัยใหม่ที่มุ่งเน้นการนำองค์ความรู้ ประสบการณ์ เรื่องเล่า นำมาผสมผสาน (Eclectic) เพื่อนำไปสู่ทางออกที่ดียิ่งขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน พายก็ต้องสังเกตเห็นว่า เขาไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้เลย ถ้าหากปราศจากความเป็นสัตว์หรือสัญชาตญาณ เพราะในความเป็นจริงของชีวิตแล้วการดำรงชีวิตไม่สามารถจะใช้เพียงแต่กรอบกฎหรือวาทกรรมของสังคมหรือแนวคิดเพียงหนึ่งเพื่อดำรงชีวิตอยู่ได้ ดังนั้นสัญชาตญาณจึงเป็นอีกหนึ่งวิธีที่สามารถช่วยเหลือเขาได้ในเวลาคับขัน ในนวนิยายได้กล่าวถึงฉากที่พายต้องเผชิญกับภัยธรรมชาติทางทะเลที่อันตราย โดยเฉพาะพายุฝนฟ้าคะนองและการอดอาหารต่าง ๆ ทำให้เขาต้องละทิ้งความเป็นมนุษย์หรือละทิ้งสิ่งที่สังคมได้พร่ำสอนและหันไปดำรงชีวิตตามสัญชาตญาณ ซึ่งช่วยชีวิตเขาไว้ในท้ายที่สุด เช่น การที่ต้องยอมกินเนื้อสัตว์ดิบ ๆ ทั้ง ๆ ที่เขาเป็นมังสวิรัติมาตลอดชีวิต เขาต้องทำการล่าและฆ่าสัตว์ทะเลมากมายเพื่อประทังชีวิต ทำให้พายเริ่มเข้าใจวิถีชีวิตของสัตว์ป่ามากขึ้น ในขณะเดียวกันเขายังใช้วิธีรำลึกถึงหรือสวดมนต์ต่อพระเจ้าในศาสนาต่าง ๆ ที่เขาให้ความเคารพนับถือ ซึ่งทำให้เขาเกิดกำลังใจแล้วทำให้เขายังคงสติเอาไว้ได้ แม้ศาสนาจะถูกมองว่าเป็นเรื่องราวของความงมงาย ไร้เหตุผล (Irrational) แต่ศาสนาก็สามารถช่วยเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจและให้กำลังใจมนุษย์ในเวลาที่เจอกับปัญหาด้วย อันเป็นสิ่งที่วิทยาศาสตร์หรือความเป็นเหตุเป็นผล (Rational) ใด ๆ ไม่อาจช่วยได้



นอกจากนี้ พายยังได้ฆ่าชายตาบอดชาวฝรั่งเศสที่อยู่บนเรือกลางทะเลอีกลำหนึ่งเหมือนกัน ในตอนแรกเขาไม่ได้ตั้งใจที่จะทำร้ายร่างกายชายตาบอดคนนี้ แต่ชายตาบอดพยายามที่จะฆ่าและทำร้ายเขา ดังนั้นเขาจึงต้องฆ่าเพื่อปกป้องชีวิตของตนเองเอาไว้และโยนความผิดให้กับ  ริชาร์ด ปาร์คเกอร์  หรือสัญชาตญาณดิบในตัวเขาเองว่าเป็นคนทำนั่นเอง อีกทั้งยังเป็นการปฏิเสธภาพลักษณ์หรือภาพจำเดิม ๆ ของผู้พิการว่าจะต้องเป็นผู้ที่ได้รับแต่ความช่วยเหลือและไม่สามารถทำร้ายใครได้

 การที่ ริชาร์ด ปาร์คเกอร์ หายตัวไปหลังจากผู้คนได้มาพบพายนอนเกยตื้นอยู่ริมชายฝั่งประเทศเม็กซิโก สื่อว่าการใช้สัญชาตญาณในการดำรงชีวิตในสังคมมนุษย์นั้น ยังคงเป็นสิ่งที่มนุษย์ยังรับไม่ได้ ดังนั้น ริชาร์ด ปาร์คเกอร์ หรือ พายจึงได้เก็บซ่อนเอาด้านมืดไว้และรู้สึกเสียใจที่เขาจะต้องเก็บกดมันลงไปอีกครั้ง เพราะพายเข้าใจดีว่า ผู้คนทั่วไปในสังคมยังคงยึดติดอยู่กับแนวคิดสมัยใหม่ ซึ่งมีความต้องการที่จะควบคุม หรือพยายามที่จะจัดการทุกสิ่งทุกอย่างลงภายในกรอบ กฎ วาทกรรมเดิมที่ถูกเชื่อและปฏิบัติกันมา โดยไม่นึกสงสัย ตั้งข้อสังเกต นำหลายวิธีมาผสมผสานกัน หรือพยายามที่จะมองหาแง่มุมใหม่ ๆ ของสิ่งต่าง ๆ และเรายังคงเห็นการต่อสู้กันระหว่างแนวคิดสมัยใหม่และหลังสมัยใหม่ ในตอนที่พายได้รับการช่วยเหลือเมื่อเรือของเขาเกยตื้นที่ชายฝั่งและเขาได้เข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลที่ประเทศเม็กซิโก เจ้าหน้าที่ชายชาวญี่ปุ่น 2 คน ผู้ทำงานเกี่ยวกับบริษัทเรือขนส่งได้ร้องขอให้พายช่วยเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับการล่มของเรือในทะเลมหาสมุทรแปซิฟิก พายจึงเลือกเล่าเรื่องทั้งหมดโดยที่มีสัตว์ต่าง ๆ ติดเรือชูชีพไปกับเขาด้วย ประกอบด้วย ไฮยีน่า ลิงอุรังอุตัง ม้าลายขาหัก และเสือเบงกอล ริชาร์ดปาร์คเกอร์ แต่เมื่อเจ้าหน้าที่ทั้งสองได้ฟังกลับคิดว่า พายกำลังล้อเล่นและเล่าเรื่องตลกให้พวกเขาฟังอยู่ นอกจากนี้ พวกเขายังไม่เชื่อในเรื่องราวต่างๆที่พายเล่า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวที่เขาลอยน้ำอยู่ในเรือกับสัตว์ทั้ง 4 ชนิด เรื่องที่กล้วยลอยน้ำหรือไม่ลอยน้ำ เรื่องที่มีเกาะกินคน จนพายต้องให้พวกเขาทำการทดลองอย่างง่ายในอ่างล้างมือ พวกเขาจึงจะเชื่อว่ากล้วยนั้นลอยน้ำได้



ดังนั้นทั้งสองจึงยืนกรานและคาดคั้นให้พายเล่าความจริงให้ฟัง ดังนั้น พายจึงเล่าเรื่องเดียวกันให้ฟังแต่เปลี่ยนจากสัตว์ต่าง ๆ เป็นมนุษย์แทน ซึ่งเป็นเรื่องราวอันโหดร้ายและน่าสยดสยอง เดิมในเรือนั้นมีพาย พ่อครัวชาวฝรั่งเศสและหนุ่มชาวพุทธผู้ขาหัก อยู่ในเรืออยู่ก่อนแล้ว ส่วนแม่ของพายลอยมากับแพกล้วยและขึ้นเรือสมทบทีหลัง ต่อมาพ่อครัวได้จัดการตัดขาหนุ่มชาวพุทธโดยอ้างว่า ทำไปเพื่อช่วยชีวิตเขา เพื่อเอาขาที่หักไปทำเหยื่อล่อปลา โดยไม่ฟังเสียงคัดค้านของพายกับแม่ ส่งผลให้ต่อมาหนุ่มคนนั้นได้ขาดใจตาย พ่อครัวจัดการแล่เนื้อของหนุ่มชาวพุทธไปตากแห้งและใช้เป็นอาหาร และต่อมาแม่ของพายก็ทะเลาะกับพ่อครัว ทำให้เธอถูกเขาฆ่า และพายก็ฆ่าพ่อครัวคนนั้นด้วยบันดาลโทสะ เขาใช้ชีวิตอย่างโดดเด่ยวเพียงลำพังกลางทะเลแปซิฟิก โดยต้องดำรงชีวิตด้วยเนื้อของมนุษย์ที่เสียชีวิตบนเรือและสัตว์ทะเลอื่น ๆ จนได้รับการช่วยเหลือในที่สุด ทำให้ชายชาวญี่ปุ่นผู้เป็นเจ้าหน้าที่ทั้งสองคนรู้สึกตกใจและแสดงออกว่า ไม่สบายใจอย่างเห็นได้ชัด พร้อมกันนั้น พวกเขาได้ตั้งข้อสังเกตว่า เรื่องทั้งสองเรื่องมีความเชื่อมโยงสัมพันธ์กัน โดยเปรียบเทียบว่า พ่อครัวคือไฮยีน่า แม่ของพายคือลิงอุรังอุตัง ชาวพุทธคือม้าลายขาหัก ส่วนพายนั้นก็คือ ริชาร์ด ปาร์คเกอร์



แต่เมื่อพายถามว่า พวกเขาชอบเรื่องไหนมากกว่ากัน ชาวญี่ปุ่นทั้งสองกลับตอบว่า ชอบเรื่องราวที่มีสัตว์ และในท้ายที่สุด พวกเขาก็ได้เลือกเรื่องราวที่มีสัตว์ของพายไปเขียนลงในรายงานความเสียหายของเรือและชีวิตการเดินทางที่มหัศจรรย์ของพาย ซึ่งแสดงให้เห็นว่าในแนวคิดแบบหลังสมัยใหม่นั้นให้ให้ความสำคัญกับเรื่องเล่าปลีกย่อยมากกว่า การปฎิเสธเรื่องเล่าแม่แบบ หรือเรื่องเล่ากระแสหลัก (Grand Narrative) นั้นเท่ากับเป็นการปฏิเสธวาทกรรมและให้ความสำคัญกับเรื่องเล่าปลีกย่อยมากขึ้นนั่นเอง และนวนิยายเรื่องนี้ยังเป็นการดำเนินเรื่องโดยใช้ตัวละครชาวอินเดีย ซึ่งถือว่าเป็นการเล่าประสบการณ์ด้วยเสียงที่ถูกกดทับเอาไว้ด้วยอำนาจวาทกรรมของชาวตะวันตก พร้อมสะท้อนมุมมองของชนชาติที่ตกอยู่ภายใต้อาณานิคมของประเทศตะวันตกนั่นก็คือ อังกฤษและฝรั่งเศสอีกด้วย 

 

และการที่พายได้ลงเรือไปพร้อมกับสัตว์ต่าง ๆ นั้นเป็นการหยิบเอาเรื่องเล่าในพระคัมภีร์ไบเบิลฉบับพันธสัญญาเดิม (The Old Testament) ว่าด้วยการหนีน้ำท่วมของโนอา (Noah’s Ark) ซึ่งบรรทุกสัตว์ต่าง ๆ ลงเรือเพื่อแสวงหาแผ่นดินที่อยู่ใหม่ นี่เองก็เป็นการหยิบยืมเอาแนวคิดดั้งเดิมของประวัติศาสตร์มาใช้ในเชิงล้อเลียน (Parody) พร้อมเสียดสีการเมืองการปกครองของประเทศอินเดียในยุคสมัยของนางอินทิรา คานธี ว่า ไม่ได้ช่วยพัฒนาให้ประเทศก้าวไปสู่ความเจริญแต่ประการใด ทำให้ประชาชนไม่ได้มีชีวิตที่ดีอย่างที่ควรจะเป็น ระบอบการปกครองแบบประธิปไตยที่ล้มเหลวกระทบกับกิจการสวนสัตว์ของครอบครัวพาเทล จนทำให้พวกเขาตัดสินใจขายกิจการสวนสัตว์และไปตั้งรกรากใหม่ที่ประเทศแคนาดาแทน



มีประเด็นที่น่าสนใจเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องศาสนาที่ปรากฏในนวนิยายเรื่องนี้ นั่นก็คือ สามารถเห็นได้ถึงศาสนาที่มีความเชื่อในพระเจ้า หรือ ศาสนาเทวนิยม (Theism) อย่างเช่น ศาสนาอิสลาม ศาสนาคริสต์ ศาสนาซิกข์ ศาสนาฮินดู และศาสนาที่ไม่เชื่อในพระเจ้า หรือ

ศาสนาอเทวนิยม (Atheism) อย่างศาสนาพุทธ เนื่องจากศาสนาพุทธถูกมองว่าเป็นศาสนาที่มีความเป็นวิทยาศาสตร์ เพราะศาสนาพุทธนั้นมีหลักการที่เชื่อในเหตุและผลหรือเชื่อในเรื่องการกระทำหรือ กฎแห่งกรรม มากกว่าที่จะมีความศรัทธาในพระเจ้าเหมือนกับศาสนาเทวนิยมอื่นๆ ซึ่งแม้จะเป็นศาสนาที่มุ่งเปิดเผยความจริงและแก่นแท้ของชีวิต แต่ก็ไม่ได้ช่วยให้ผู้คนเกิดความเข้าใจเหตุผลในการมีชีวิตอยู่มากขึ้นและแม้แต่อาจจะไม่ได้ทำผู้คนรู้สึกมีความสุขกับชีวิตได้มากขึ้น

ตามที่เลียวทาร์ดกล่าวว่า  ศิลปะ ความรู้ และวิทยาศาสตร์ได้กลายมาเป็นส่งที่โดดเดี่ยวและเป็นอิสระจากสังคม ศิลปะได้รับใช้ระบบทุนนิยมและสร้างสิ่งต่าง ๆ มาเพื่อการบริโภค ส่วนวิทยาศาสตร์ก็กลายเป็นเพียงแค่ศาสตร์ที่มุ่งสร้างแต่วาทกรรม (ธัญญา สังขพันธานนท์, 2559, หน้า 191) โดยขาดการเชื่อมโยงกับความเป็นจริงของสังคมและสภาพจิตใจของผู้คนในสังคม สภาพจิตใจของพายก็เปรียบเสมือนกับการยื้อยุดฉุดกระชากแย่งชิงพื้นที่และโต้เถียงกันไปมาระหว่างวาทกรรมทางวิทยาศาสตร์และวาทกรรมทางมนุษยศาสตร์ ซึ่งมักแบ่งพื้นที่กันอย่างชัดเจนและมักโจมตีกันและกันว่า ต่างฝ่ายต่างเป็นศาสตร์ที่มุ่งสะท้อนภาพของสิ่งต่างๆไปในเชิงเดียวหรือทิศทางเดียว



แต่มนุษย์นั้นไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้โดยปราศจากวิทยาศาสตร์หรือแนวคิดทางมนุษยศาสตร์ เพราะทั้งสองอย่างนั้นดำเนินและสอดคล้องอยู่กับชีวิตมนุษย์ตั้งแต่ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ และวาทกรรมต่าง ๆ ทางการแพทย์หรือทางวิทยาศาสตร์ในอีกแง่มุมหนึ่ง ก็ได้สร้างความเดือดร้อนให้กับคนในสังคมไม่มากก็น้อย ตัวอย่างเช่น วาทกรรมทางการแพทย์ได้ก่อให้เกิดความพิการขึ้น เนื่องจากได้รับมีการระบุว่า ความป่วยไข้เป็นความผิดปกติของร่างกาย ซึ่งแท้ที่จริงแล้ว ความพิการนั้นสามารถเกิดขึ้นได้กับคน ทุกเพศ ทุกวัย ทุกเชื้อชาติ ทุกสีผิว และเป็นเรื่องธรรมดาที่มนุษย์ทุกคนต้องประสบ ทำให้ผู้คนมากมายต้องตกอยู่ภายใต้วาทกรรมทางการแพทย์ โดยที่พวกเขาไม่ยินยอม วาทกรรมความเป็นชาย วาทกรรมความเป็นหญิง ที่ไม่เหลือพื้นที่ให้กับเพศสภาพอื่น ๆ เช่น กลุ่ม LGBTQ หรือแม้แต่ระบบการปกครองต่าง ๆ ในโลกที่เชื่อว่า จะสามารถแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมได้ เช่น ระบอบคอมมิวนิสต์ ก็ไม่สามารถที่จะแก้ไขให้เป็นไปตามแนวทางอุดมคติได้อย่างที่ควรจะเป็น


แนวคิดยุคหลังสมัยใหม่จึงเริ่มย้อนกลับมามองประวัติศาสตร์ ให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมและรับฟังเสียงของคนทุกคนในชนชั้น เนื่องจากเป็นการเปิดเผยมุมมองที่แตกต่างออกไปต่อสิ่งเดียวกันและได้แสดงให้เห็นถึงความชัดเจนของสิ่งต่าง ๆ มากขึ้นเรื่อย ๆแทนที่จะใช้แนวคิดใดแนวคิดหนึ่งในการตัดสินและพิพากษาสิ่งนั้นด้วยแนวคิดเดียว เนื่องจากในสมัยโบราณ ชุมชนของมนุษย์นั้นก็สามารถเอาชีวิตรอดได้จากการสื่อสารด้วยภาษาและถ่ายทอดความรู้ ความคิด ทักษะหรือวิทยาการต่าง ๆ ผ่านจากการเล่าเรื่อง หรือ มุขปาฐะ และเรื่องเล่าหรือตำนาน นิทานต่าง ๆ ก็ถูกใช้เพื่ออธิบายปรากฎการณ์ทางธรรมชาติและปรากฎการณ์ทางวิทยาศาสตร์ตามความเข้าใจของมนุษย์มานานนับหลายพันปีหลายหมื่นปี



แม้เรื่องเล่าหลาย ๆ เรื่องจะไม่ได้ตอบคำถามอย่างตรงไปตรงมา หรือแสดงให้ผู้คนเห็นถึงผลลัพธ์อย่างชัดเจนเมื่อเปรียบเทียบกับวิธีการทางวิทยาศาสตร์ แต่สิ่งที่สำคัญและเป็นเสน่ห์ของเรื่องเล่าก็คือ มันก่อให้เกิดความผูกพันระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติและเสริมสร้างการมีปฏิสัมพันธ์กันระหว่างผู้คนในสังคมเผ่า นำมาสู่การแลกเปลี่ยนทางความคิดได้ดีกว่าการทดลองทางวิทยาศาสตร์ที่มุ่งเน้นผลลัพธ์ที่ถูกต้องแม่นยำเพียงอย่างเดียวและแม้จะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้โลกแบบก้าวกระโดด แต่ก็ไม่สามารถทดแทนสิ่งสังคมต้องการได้ นั่นก็คือ ความรัก ความผูกพัน ความเข้าใจในตนเองและความเข้าใจในตัวผู้อื่น นอกจากนี้ ยังเป็นการมอบมุมมองให้ผู้คนต่อสิ่งต่าง ๆ รอบตัวในเชิงนิเวศน์ (Ecocentrism) มากขึ้น (คัลเลอร์, 2561, หน้า 215) กล่าวคือ ไม่ยึดเอาตนเองเป็นศูนย์กลางของทุกสิ่ง หากแต่ให้มองว่าสัตว์นั้นเท่าเทียมกับมนุษย์ และมนุษย์เป็นเพียงส่วนหนึ่งของธรรมชาติ และควรอาศัยอยู่ร่วมกับธรรมชาติโดยไม่ไปเบียดเบียน ทำลาย หรือมุ่งควบคุมธรรมชาติ



นวนิยายเรื่อง Life of Pi อาจกำลังสะท้อนสภาวะของโลกในปัจจุบันที่เต็มไปด้วยความหลากหลายของข้อมูล แง่มุมต่าง ๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป จนไม่อาจที่จะยึดถือเพียงหลักการใดหลักการหนึ่งมาเป็นเกณฑ์เพื่อใช้ตัดสินสิ่งต่าง ๆ ได้อีกแล้ว เนื่องจากวาทกรรมต่าง ๆ ที่มาพร้อมกับกฎเกณฑ์มากมายที่ใช้ในการกีดกัน แบ่งแยก และสร้างความเป็นอื่นให้กับสิ่งต่าง ๆ รอบตัวของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นธรรมชาติ สัตว์ป่า หรือแม้กระทั่งผู้คนในสังคมเอง และก่อให้เกิดปัญหาตามมามากมาย ดังนั้น แนวคิดยุคหลังสมัยใหม่ จึงเป็นแนวคิดที่น่าจับตามองในขณะนี้ พร้อมกับตั้งคำถามว่าในท้ายที่สุดแล้ว มนุษย์เราจะสามารถก้าวข้ามผ่านกรอบกฎวาทกรรมในยุคสมัยใหม่เพื่อไปสู่โลกที่ในอุดมคติที่เราเคยใฝ่ฝันกันได้หรือไม่


ความคิดเห็น