ตัวอย่างงานวิเคราะห์วิจารณ์ภาพยนตร์ - Moonrise Kingdom: ขอพื้นที่เล็ก ๆ ให้ยังเป็นเด็กอยู่ได้ไหม

 เชื่อเหลือเกินว่า ทุกคนในวัยเด็กย่อมมีโลกแห่งจินตนาการเป็นของตัวเอง พื้นที่นั้นเป็นโลกของความฝันที่มีแต่ความสุข สวยงาม ไม่มีความเจ็บปวดหรือผิดหวัง แต่ในที่สุด พวกเราก็จำต้องละทิ้งโลกเล็ก ๆ ใบนั้นของเราไป เมื่อโลกของความจริงเรียกร้องให้เราต้องเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในทุกวินาทีที่ผ่านเข้ามาในชีวิต ซึ่งเด็ก ๆ ภายในเรื่อง Moonrise Kingdom ก็ไม่ต่างกับพวกเราทุกคนเลย



เรื่องราวนี้เกิดขึ้น ณ เกาะนิวแพนแซนด์ (New Penzance) เด็กชายอายุ 12 ปี ผู้เป็นลูกเสือในค่ายแห่งหนึ่งชื่อ แซม ชาคัสกี้ (Sam Shakuski) ได้พบกับเด็กหญิงวัยเดียวกันกับเขา ซูซี่ บิชอป (Suzy Bishop) ในระหว่างงานการแสดงภาคฤดูร้อนของเด็ก ๆ ประจำปี 1964 แซมเป็นเด็กชายผู้กำพร้าพ่อแม่ เขาได้มาอยู่กับครอบครัวบุญธรรมซึ่งเป็นโรงรับเลี้ยงเด็กกำพร้า และเขามักถูกพี่น้องบุญธรรมกลั่นแกล้งและเกิดเรื่องทะเลาะเบาะแว้งกันอยู่เป็นประจำ ส่วนซูซี่เป็นเด็กหญิงที่ครอบครัวของเธอไม่อบอุ่นและขาดความเข้าใจซึ่งกันและกัน หลังจากนั้น พวกเขาได้เป็นเพื่อนทางจดหมายและติดต่อกันเสมอมา จนกระทั่งในฤดูร้อนปี 1965 แซมและซูซี่จึงตัดสินใจที่จะหนีเข้าไปใช้ชีวิตอยู่ในป่าด้วยกัน การหายตัวไปจากค่ายของแซมและการหายไปจากบ้านของซูซี ทำให้คุณครูของแซมและผู้ปกครองของซูซีพร้อมกับผู้ใหญ่คนอื่น ๆ บนเกาะต้องออกตามหาเด็กทั้งคู่กันจ้าละหวั่น



สงครามเวียดนาม: สงครามในโลกของความจริงที่สะท้อนผ่านสงครามภายในครอบครัว

การทะเลาะเบาะแว้งของเด็ก ๆ ภายในเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นแซมที่มักทะเลาะกับพี่น้องบุญธรรมหรือพี่น้องลูกเสือในค่ายอยู่เสมอ อีกทั้งซูซี่ที่ไม่เคยญาติดีกับน้องชายทั้งสามและพ่อแม่ของเธอ รวมไปถึงการมึนตึงใส่กันของพ่อแม่ พร้อมกับการทะเลาะกันโดยการใช้ความรุนแรงทางกายและทางคำพูดของบรรดาผู้ใหญ่คนอื่น ๆ ในเรื่อง ได้สะท้อนภาพของสงครามเวียดนามที่กำลังครุกรุ่นอยู่ในยุค 1950-1970 แม้จะไม่ถูกกล่าวถึงในเนื้อเรื่องเลยก็ตาม 



แต่เราก็สามารถเข้าใจได้ถึงสถานการณ์ที่ผู้กำกับอินดี้มือทอง เวส แอนเดอร์สัน (Wes Anderson) ต้องการจะสื่อเป็นนัย ๆ ผ่านการใช้องค์ประกอบศิลป์ต่าง ๆ ที่ล้วนแต่เต็มไปด้วยการใช้ความรุนแรง นั่นก็คือ การที่เพื่อน ๆ ในค่ายลูกเสือเลือกหยิบอาวุธต่าง ๆ เช่น ค้อนฝังตะปู กรรไกร ธนู มีดสั้น ติดตัวไปด้วยในการเข้าไปตามหาเด็ก ๆ ทั้งสองคน แสดงให้เห็นถึงการสื่อสารด้วยวิธีการผิด ๆ ที่เน้นการแก้ปัญหาด้วยความรุนแรง หรือแม้กระทั่งฉากที่แม่ของซูซี่เรียกเธอมาทานข้าวเย็น ก็ยังมีการใช้โทรโข่งตะโกนเรียกเธอจากชั้นล่าง อันแสดงให้เห็นความห่างเหินและการใช้ความรุนแรงทางคำพูดในครอบครัวอีกด้วย ด้วยเหตุนี้เอง เมื่อโลกของความจริงนั้นเต็มไปด้วยความโหดร้ายและไร้ความสุข ทำให้แซมและซูซี่ได้เฝ้าฝันถึงโลกที่สวยงามและสงบสุขกว่านี้ พวกเขาจึงได้ทำการเข้ายึดชายหาดแห่งหนึ่ง ๆ และทึกทักเอาเองว่า “นี่คือที่ดินของเรา” หรือเป็นอาณาจักรส่วนตัวของพวกเขาที่ปราศจากเรื่องราวเลวร้ายในโลกของความจริง



บุปผาชน: รักกันไว้เกิด...เพราะเราเกิดมาร่วมกันบนโลกใบนี้

แซมและซูซี่จึงเป็นตัวละครที่แทนค่าเหล่าฮิปปี้ (Hippies) หรือบุปผาชน (Flower People) ในยุค 1970 อันเป็นผลมาจากการต่อต้านสงครามของเหล่าชายหญิงรุ่นใหม่ โดยแนวคิดของบุปผาชนในช่วงทศวรรษที่ 70 ได้รับอิทธิพลสืบเนื่องมาจากแนวคิดธรรมชาตินิยมของศาสนาพราหมณ์ฮินดู (Hinduism) ในอินเดียและลัทธิธรรมชาตินิยม (Naturalism) ของชาวพื้นเมืองอเมริกัน (Native American) ในอเมริกาเหนือ ซึ่งนับถือธรรมชาติและเน้นการอยู่ร่วมกับธรรมชาติโดยไม่ฝืนกฎธรรมชาติและเคารพธรรมชาติในฐานะมารดาผู้ให้กำเนิด (Mother Nature) บ่อยครั้งที่แนวคิดของบุปผาชนนั้นสื่อถึงแนวคิดระดับจิตวิญญาณของมนุษย์ ซึ่งผูกพันกับธรรมชาติและพยายามที่จะหลีกหนีความเป็นทุนนิยมของสังคมเมืองในอเมริกันแบบอเมริกัน การชื่นชมแนวคิดของชาวอินเดียนแดงหรือแนวคิดทางจิตวิญญาณของศาสนาฮินดู ที่สะท้อนผ่านการกระทำของตัวละครของแซมและซูซี่ เช่น การหนีออกจากบ้านแล้วไปอาศัยอยู่ในป่า การประดับและแต่งกายด้วยดอกไม้หรือวัสดุจากธรรมชาติ หรือเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร การปฏิเสธแนวคิดวัตถุนิยมและต่อต้านสงคราม เป็นต้น



โดยทั้งการปฏิบัติตัวขัดแย้งกับกรอบของสังคมพร้อมทั้งการหลีกหนีสังคมของแซมและซูซี่นี่เอง ได้สะท้อนทำให้เห็นถึงถึงความเครียดและกดดันจากการปฏิบัติตามกฎของสังคมอย่างเคร่งครัดและมีความต้องการที่จะเป็นอิสระ และสะท้อนให้เห็นว่า มนุษย์ทุกคนนั้นไม่ได้มีความสมบูรณ์แบบ หากแต่เต็มไปด้วยข้อบกพร่องและความขัดแย้ง เมื่อมนุษย์ขาดความเข้าใจในธรรมชาติของกันและกันก็ย่อมทำให้เกิดการมุ่งจับผิดหรือตำหนิติเตียนการกระทำที่แตกต่างได้ และนำไปสู่ความขัดแย้ง ตั้งแต่ระดับเล็กไปจนถึงระดับใหญ่หรือระดับชาติ เช่น สงครามเวียดนาม และมักจบลงด้วยการใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา อันมักจะตามมาด้วยความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินมากมาย แต่สุดท้ายก็ไม่มีใครได้ประโยชน์อันใดจากความขัดแย้งนี้เลย



อาณาจักรแสงจันทร์: หลับฝันเพื่อตื่นและเติบโต

Moonrise Kingdom ได้สื่อถึงอาณาจักรในจินตนาการของเด็ก ๆ ดวงจันทร์และเวลากลางคืนถูกนำมาแทนค่าของโลกจินตนาการหรือโลกของความฝันที่เด็ก ๆ สร้างขึ้น ซึ่งเป็นเวลาตรงข้ามกับโลกเวลากลางวันหรือโลกที่มีแสงของดวงอาทิตย์ส่องสว่าง อันสื่อถึงโลกความเป็นจริงที่ทุกคนจะต้องตื่นขึ้นมาและมีความรับผิดชอบหรือบทบาทหน้าที่ในสังคมที่ต้องปฏิบัติหรือดำเนินตามกรอบกฎกติกามารยาทต่าง ๆ ดังนั้น การที่แซมและซูซี่ถูกผู้ใหญ่นำตัวออกมาจากแนวชายหาดของพวกเขาจึงเปรียบเสมือนกับการที่ผู้ใหญ่พยายามที่จะปลุกให้พวกเขาตื่นจากความฝันและบังคับให้พวกเขายอมรับกับโลกแห่งความเป็นจริงที่โหดร้ายและเต็มไปด้วยความขัดแย้งในตัวเองและความขัดแย้งระหว่างผู้คนในสังคม ซึ่งในตอนจบของเรื่อง แซมและซูซีตัดสินใจที่จะฆ่าตัวตายโดยการกระโดดลงมาจากยอดหลังคาโบสถ์ หลังจากพยายามปีนหนีบรรดาผู้ใหญ่ที่พยายามตามหาตัวพวกเขาอีกครั้งหนึ่ง เพราะพวกเขาไม่สามารถทนอยู่ในโลกของความจริงได้ไหว นี่เองจึงเป็นผลพวงจากการที่ผู้คนในสังคมมีวิธีการแก้ไขปัญหาหรือการสื่อสารต่อกันและกันที่ผิดวิธี และเต็มไปด้วยการใช้ความรุนแรง 



แต่ในที่สุด ก่อนที่ทั้งสองคนจะตัดสินใจกระโดดลงไป นายตำรวจประจำเกาะก็ได้ตัดสินใจเสนอความคิดเห็นว่า เขาต้องการจะรับแซมเป็นลูกบุญธรรม โดยเขานั้นให้โอกาสแซมในการตัดสินใจในครั้งนี้ด้วย การสื่อสารครั้งสุดท้ายของนายตำรวจได้เปลี่ยนความคิดของแซมไป เพราะเป็นการแสดงให้เห็นถึงการที่ผู้ใหญ่ยอมรับฟังและเข้าใจความรู้สึกของเด็ก ๆ และทำให้แซมและซูซีล้มเลิกความตั้งใจที่จะฆ่าตัวตาย ส่วนการที่แซมและซูซียอมกลับมารับความช่วยเหลือจากผู้ใหญ่และกลับคืนสู่ครอบครัวอีกครั้ง ยังเปรียบเสมือนการพ่ายแพ้ของแนวคิดบุปผาชนและการดำรงอยู่ของสังคมทุนนิยมอีกด้วย เพราะในตอนท้ายของเรื่อง แซมได้ลาออกจากการเป็นลูกเสือและช่วยนายตำรวจประจำเกาะทำงานในฐานะลูกชายบุญธรรม และเขายังปรากฏตัวในชุดของตำรวจอีกด้วย ได้แสดงให้เห็นว่า แซมเลิกบทบาทของการเป็นบุปผาชนที่อาศัยในป่า (ลูกเสือ) ไปเป็นคนทำงานในสังคม (ตำรวจ) นั่นเอง ส่วนซูซี่ก็ปรับตัวเข้ากับน้องชายและครอบครัวของเธอได้ในที่สุด จึงเป็นการแสดงให้เห็นว่า แซมและซูซี่ได้เติบโตขึ้นจากเหตุการณ์ที่ผ่านมาในเรื่อง ดังนั้น Moonrise Kingdom จึงเป็นภาพยนตร์ที่มุ่งเน้นให้ผู้คนในสังคมโดยเฉพาะคนในครอบครัวให้ทำความเข้าใจกันและกันให้มากขึ้น ภายใต้การกลับคืนสู่สภาวะปกติของสถาบันทางสังคมผ่านการสื่อสารที่เต็มไปด้วยการรับฟัง เปิดใจ ตรงไปตรงมา และยอมรับตัวตนของกันและกัน

ความคิดเห็น